27.1.60

กุ้งเครฟิช Crayfish

กุ้งเครฟิช กำลังเป็นที่นิยมมากในขณะนี้ สำหรับผู้ชอบเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่นปลา และยังสามารถช่วยกำจัดสิ่งปฎิกูลที่ก้นตู้ได้ด้วย

กุ้งเครฟิช เติบโตและได้รับความนิยมในหมู่คนทุกเพศทุกวัย ด้วยความมีรูปทรงเอกลักษณ์ เลี้ยงดูง่าย มีความแข็งแรง อดทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่างๆ สีสรรสวยงามมาก รูปแบบการผสมพันธุ์ การลอกคราบเพื่อการเติบโต ยิ่งเลี้ยงยิ่งสนุก มาลองเลี้ยงกันดูครับ รับรองว่าจะติดใจในมนต์เสน่ห์ของกุ้งสวยงามพันธุ์นี้ กุ้งเครฟิช

กุ้งเครฟิช  Crayfish เป็นกุ้งน้ำจืดจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างโดยรวมลำตัวใหญ่ เปลือกหนา ก้ามใหญ่แลดูแข็งแรง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง เช่น อีเรียนจายา และเอเชียตะวันออก ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานเครฟิชไปแล้วกว่า 500 ชนิด ซึ่งกว่าครึ่งนั้นเป็นเครฟิชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยชนิดที่ยังไม่ได้รับการอนุกรมวิธาน อีกทั้งหลายชนิดยังมีความหลากหลายทางสีสันมากอีกด้วย

โครงสร้างของร่างกาย

ร่างกายเครฟิชนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนกลาง หรือ ทอแร็ก คือส่วนที่มีขาใช้สำหรับเดิน ส่วนสุดท้ายคือ ส่วนท้องซึ่งเป็นส่วนที่มีเนื้อเยอะมากที่สุด ซึ่งส่วนหัวกับส่วนกลางนั้นเชื่อมติดรวมกันเป็นชิ้นเดียว เรียกว่า เซฟาโลทอแร็ก (ข้อมูลบางแหล่งอาจระบุว่าเครฟิชนั้นมีลำตัวเพียง 2 ส่วนก็ได้) ทั้งตัวนั้นจะถูกหุ้มด้วยเปลือก หรือ คาราเพซ ซึ่งทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ใช้สำหรับปกป้องลำตัว และเป็นที่ตั้งของอวัยวะหายใจ คือ เหงือกที่มีลักษณะคล้ายขนนกอยู่ใกล้บริเวณปาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบหายใจ คือเป็นทางผ่างของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือกนั่นเอง
ในส่วนของขานั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ขาเดิน ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 คู่ โดยคู่แรกนั้นถูกพัฒนาจนกลายเป็นก้าม ใช้สำหรับหยิบจับอาหารและใช้ต่อสู้ และ ขาว่ายน้ำ จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ มีไว้สำหรับโบกน้ำที่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อหายใจ รวมทั้งโบกพัดแพลงก์ตอนเข้าหาตัวเพื่อกินเป็นอาหารอีก ในเครฟิชตัวเมีย ขาว่ายน้ำยังใช้เป็นที่อุ้มไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิอีกแล้วต่างหาก

การแบ่งสายพันธุ์

กุ้งเครฟิช นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ใหญ่ ๆ คือ Astacoidea ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป สามารถแบ่งเป็นวงศ์ย่อยได้อีก 2 วงศ์คือ Astacidae และ Cambaridae โดยเครฟิชชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงศ์นี้คือProcambarus clarkii โดยรวมแล้วเครฟิชในวงศ์นี้ มีรูปร่างใหญ่ ไม่มีกรี มีลักษณะเด่นคือ ก้ามมีหนาม ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร และวงศ์ใหญ่ Parastacoidea ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคโอเชียเนียและอีเรียน จายา เครฟิชในวงศ์นี้ก้ามจะไม่มีหนาม และลักษณะของก้ามจะป่องออกต่างไปจากวงศ์ Astacoidea แต่มีที่หนีบสั้นและเล็กกว่า ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ชนิดของเครฟิชในวงศ์นี้ที่เป็นที่รู้จัก คือ Cherax quadricarinatus

การแบ่งเพศและวงจรชีวิต

เครฟิชนั้นในธรรมชาติจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่มีลักษณะน้ำใสสะอาด มีออกซิเจนสูง โดยจะซ่อนตัวอยู่ตามขอนไม้หรือหินใต้น้ำ เป็นสัตว์ที่กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งซากพืชซากสัตว์ด้วย ออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะไม่หากินทุกวัน แต่จะเว้นระยะไปราว 1-2 วัน จึงออกหากินอีกครั้ง มีอาณาเขตของตัวเองประมาณ 40 เซนติเมตร
เครฟิชในวัยเล็กจะมีระยะการลอกคราบบ่อยกว่าตัวที่โตแล้ว โดยจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่หนึ่งครั้งต่อหนึ่งเดือน เมื่ออายุได้ 1 ปี การลอกคราบจะเหลือเพียงปีละครั้งเท่านั้น การลอกคราบแต่ละครั้งใช้เวลานานราว 2-3 วัน กว่าเปลือกใหม่ที่ได้นั้นจะแข็งแรงเท่าเดิม ในบางครั้งอาจมีพฤติกรรมกินเปลือกตัวเองที่ลอกออกหรือของตัวอื่นก็ได้ เพราะร่างกายของเครฟิชในช่วงลอกคราบต้องการแคลเซี่ยมเพื่อสร้างเปลือกใหม่ให้แข็งแรง

การจำแนกเพศนั้น

ในวงศ์ Astacoidea เครฟิชตัวผู้จะมีอวัยวะคล้ายตะขออยู่บริเวณขาเดินคู่ที่ 2 และ 3 ใช้สำหรับเกาะเกี่ยวตัวเมียในการผสมพันธุ์ และจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า ปาปิลเล บริเวณโคนขาคู่สุดท้าย ส่วนตัวเมียจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า แอนนูลลัส เวนทราลิส ลักษณะเป็นแผ่นวงรีสีขาว ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร บริเวณขาเดินคู่ที่ 3 นอกจากนี้แล้วในตัวผู้ขาว่ายน้ำคู่แรกและคู่ที่ 2 จะถูกพัฒนาเป็นแขนเล็ก ๆ เรียกว่า เพทาสมา สำหรับผ่านน้ำเชื้อไปยังตัวเมียอีกด้วย
แต่ร่างกายโดยรวมแล้ว เครฟิชตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งก้ามที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า
ส่วนในวงศ์ Parastacoidea นั้น ตัวผู้จะมีอวัยวะเป็นรูปวงรีบริเวณโคนขาคู่ที่ 3 ซึ่งตัวเมียไม่มี และอวัยวะส่วนนี้จะแตกต่างไปจากในวงศ์ Astacoidea

การผสมพันธุ์นั้น

เครฟิชตัวผู้จะประกบตัวเมียจากด้านหลัง และพลิกท้องตัวเมียให้หงายแล้วตัวผู้จะเข้าประกบโดยใช้อวัยวะที่คล้ายตะขอนั้นจับตัวเมียในลักษณะท้องชนท้อง หันหัวไปในทางเดียวกัน ตัวผู้จะส่งผ่านถุงน้ำเชื้อไปปะติดไว้กับท้องของตัวเมีย ซึ่งพฤติกรรมนี้เครฟิชในวงศ์ Astacoidea จะใช้เวลานานราว 10 นาที ขณะที่ในสกุล Cherax ในวงศ์ Parastacidae กินเวลาเพียง 1-2 นาที เท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิจากน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลาราว 3-4 สัปดาห์ โดยตัวเมียจะอุ้มไข่ไว้ในช่องท้อง ไข่มีลักษณะวงกลมสีดำคล้ายเมล็ดพริกไทยดำ ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้งอาจได้ลูกเครฟิชมากถึง 300 ตัว ซึ่งเครฟิชในวัยเล็กจะยังอาศัยอยู่กับแม่ โดยกินเศษอาหารที่แม่กินเหลือ เมื่อโตขึ้นจึงค่อยแยกจากไป

ความนิยมในการเลี้ยงกุ้งเครฟิช Crayfish

การนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลาเป็นสัตว์น้ำสวยงาม ทั้งวงศ์ Astacoidea และวงศ์ Parastacoidea โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนิด Procambarus clarkii ที่มีรูปร่างดูบึกบึน แข็งแกร่ง มีการพัฒนาสายพันธุ์จนมีสีสันที่หลากหลาย จากเดิมที่สีตามธรรมชาติ คือ สีแดง กลายมามีสีที่หลากหลาย เช่น สีฟ้า, สีน้ำเงิน, สีน้ำเงินเข้ม, สีขาว หรือ สีส้มและ สีแดงเข้ม เป็นต้น ซึ่งสำหรับในประเทศไทย เครฟิชชนิดนี้มีการเลี้ยงกันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในชื่อของ “กุ้งแดง” หรือ “กุ้งญี่ปุ่น” สำหรับในตัวที่มีสีสันหลากหลายออกไปตามที่ได้กล่าวมา ก็เรียกชื่อต่าง ๆ กันไปตามสี เช่น “ไบร์ออเรนจ์”, “อิเล็คทริคบลู”, “กุ้งฟ้า” หรือ “สโนว์ไวท์” เป็นต้น
สำหรับในวงศ์ Parastacoidea สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันก็ได้แก่ Cherax quadricarinatus และ C. tenuimanus เพราะมีสีสันที่หลากหลายในตัวเดียวกัน ทั้งสีฟ้า, สีน้ำตาลอมเขียว หรือ สีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น ในประเทศไทยนิยมเรียกว่า “กุ้งเรนโบว์” และชนิดC. sp. “zebra” ซึ่งเป็นชนิดที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อสายพันธุ์ มีสีสันลำตัวที่สวยงาม มีสีดำเป็นเงาสลับกับลายปล้องสีขาวอมส้ม ก้ามสีขาว ในบางตัวอาจมีก้ามสีน้ำเงินหรือสีม่วงสวยงาม ซึ่งนิยมเรียกว่า “กุ้งม้าลาย” หรือ “กุ้งซีบร้า”

ชื่อสามัญ: กุ้งเครฟิช Crayfish

การเลี้ยงดู: ง่าย
ขนาด: ปกติถึง 3 นิ้ว (8 ซม.) หรือใหญ่กว่านั้น
อายุ: 2 – 5 ปี หรืออาจมากกว่านั้น
ค่า PH ที่เหมาะสม 6-8
อุณหภูมิ: 60 ° F – 80 ° F (16 ° C – 27 ° C)
ความกระด้างของน้ำ: 5 °ถึง 15 ° dH,
กำเนิด / ที่อยู่อาศัย: สายพันธุ์ที่แตกต่างกันทั่วโลก
อารมณ์ / พฤติกรรม: หวงถิ่น อาจมีการต่อสู้กับตัวอื่น หรือสัตว์ตัวอื่นได้
การเลี้ยงดู กุ้งเครฟิช Crayfish:
อาหาร : อาหารเม็ดทั่วไป หรือไม้น้ำเช่น ว่านหางกระรอก
เพศ: ดูยากที่จะตรวจสอบยกเว้นเมื่อตัวเมียติดไข่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Adsence